061-946-9586 จันทร์-ศุกร์ : 17:00 - 20:00 น. / เสาร์-อาทิตย์ : 10.00-18.00 น.



✨ จำได้ไหมว่า คุณปวดฟันครั้งสุดท้ายเมื่อไหร่?

“อาการปวดฟัน” จะเป็นอาการปวดรอบฟันหรือขากรรไกร มักรู้สึกปวดอย่างต่อเนื่องหรือปวดเป็นระยะๆ ไม่หายไป มีระดับความปวดตั้งแต่ปวดเล็กน้อยแค่พอรำคาญไปจนถึงรุนแรงจนทนไม่ได้และยังเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดอาการอื่นๆ ร่วมด้วย เช่น ปวดหัว มีไข้ ปวดหู หรือรู้สึกมีรสชาติเฝื่อนๆ ในช่องปาก เป็นต้น นอกจากนี้อาการปวดฟันยังมีหลายรูปแบบ ได้แก่
- มีอาการปวดฟันแบบเป็นๆ หายๆ มักสัมพันธ์กับการมีเศษอาหารติด หากสามารถกำจัดไม่ให้มีเศษอาหารติดบริเวณนั้นๆ ได้ อาการปวดก็จะเบาลงหรือหายได้
- มีอาการปวดแปลบๆ เหมือนเข็มทิ่ม หรือปวดตุบๆ อย่างต่อเนื่อง และปวดมากขึ้นเวลากลางคืน มักสัมพันธ์กับฟันผุขนาดใหญ่ทะลุโพรงประสาทฟัน เมื่อทานยาแก้ปวดอาการจะทุเลา แต่พอยาแก้ปวดหมดฤทธิ์จะกลับมาปวดอีก
- มีอาการปวดฟันร่วมกับการบวมของเหงือกบริเวณฟันที่ติดเชื้อ มักสัมพันธ์กับฟันโยกและมีหินปูนสะสมมาก มักจะมีอาการปวดตึงๆ (Dull pain) โดยอาจมีการติดเชื้อไปที่ปลายรากฟันทำให้อักเสบเป็นหนองได้ และหากการติดเชื้อลุกลามไปยังแก้มและคาง ก็อาจส่งผลให้แก้มหรือคางบวมกว่าปกติได้
- มีอาการปวด บวมรอบๆ เหงือกและฟันกรามซี่ในสุด มักสัมพันธ์กับอาการปวดจากฟันคุด
อาการปวดฟันมีที่มาจากหลายสาเหตุ อาจเป็นอาการปวดจากฟัน เหงือก หรือโครงสร้างกระดูกรอบรากฟัน มักรู้สึกปวดอย่างต่อเนื่องหรือปวดเป็นระยะๆ เป็นๆ หายๆ แต่สาเหตุที่พบบ่อยที่ทำให้เกิดอาการปวด คือ ฟันผุ โดยเฉพาะฟันที่ผุทะลุโพรงประสาทฟัน นอกจากนี้ยังอาจเกิดการติดเชื้อจากอนามัยช่องปากที่ไม่ดี หรือจากฟันแตกบิ่น หรือฟันร้าว เป็นต้น




🦷 ทำไมคุณหมอจึงแนะนำให้ผ่าฟันคุด

หลายคนอาจสงสัยว่าถ้าไม่จัดฟันเราจำเป็นต้องเอาฟันคุดออกหรือไม่ ถ้าไม่มีอาการปวดหรืออายุมากแล้วแต่ฟันคุดไม่มีอาการปวดยังจำเป็นต้องเอาออกอยู่รึเปล่า แล้วเคยสงสัยมั้ยว่าทำไมคนสมัยก่อนไม่เห็นต้องผ่าฟันคุดออก

คนสมัยก่อนนิยมทานอาหารจำพวกเนื้อสัตว์และอาหารที่มีเส้นใยทำให้ขากรรไกรบนและล่างมีการเจริญเติบโตเต็มที่ส่งผลให้ฟันกรามซี่ที่ 3 ที่ขึ้นเป็นซี่สุดท้ายในช่วงอายุ 17-18 ปี มีพื้นที่เพียงพอให้ฟันขึ้นได้อย่างสมบูรณ์ แต่ในปัจจุบันเด็กๆ นิยมทานอาหารอ่อนหรืออาหารฟาสต์ฟู๊ดทำให้ขากรรไกรเจริญเติบโตได้ไม่เต็มที่ ฟันกรามซี่ที่ 3 เลยไม่มีที่ให้ขึ้นหรือขึ้นมาได้บางส่วนจึงเบียดกับฟันซี่ข้างๆ เราเลยเรียกฟันซี่นี้ว่า “ฟันคุด” โดยสาเหตุที่คุณหมอมักแนะนำให้ผ่าฟันคุดออก ได้แก่

1.เพื่อป้องกันอาการปวดจากการที่ฟันคุดขึ้นไม่ได้ เนื่องจากเบียดกับฟันซี่ข้างๆ หรือติดกระดูกขากรรไกรทำให้เกิดแรงดันบริเวณขากรรไกรขึ้น
2.เพื่อป้องกันการอักเสบของเหงือกที่ปกคลุมฟัน เพราะมักมีเศษอาหารติดอยู่ใต้เหงือกนั้นและทำความสะอาดได้ค่อนข้างยากทำให้มีเชื้อแบคทีเรียสะสมอยู่ในบริเวณนั้นค่อนข้างมากก่อให้เกิดเหงือกบวม อักเสบ ปวดเป็นหนอง หากปล่อยทิ้งไว้ไม่รีบรักษาจะทำให้เกิดการอักเสบลุกลามไปใต้คางหรือใต้ลิ้น ในคนไข้บางรายที่มีการบวมใต้คางมากอาจไปปิดกั้นทางเดินหายใจจนเป็นอันตรายถึงชีวิตได้
3.เพื่อป้องกันฟันข้างเคียงผุ โดยซอกฟันระหว่างฟันคุดกับฟันกรามซี่ที่ 2 ที่อยู่ติดกันนั้นมักเข้าไปทำความสะอาดได้ยากและมักมีเศษอาหารติดอยู่ทำให้เกิดฟันผุได้ทั้ง 2 ซี่ ในคนไข้บางรายหากฟันผุลึกมากจนไม่สามารถบูรณะได้อาจจำเป็นต้องเอาออกทั้ง 2 ซี่
4.เพื่อป้องกันการละลายตัวของกระดูก เนื่องจากแรงดันจากฟันคุดที่พยายามขึ้นมาในช่องปากจะไปละลายกระดูกรอบรากฟันและอาจไปทำลายรากฟันของฟันซี่ข้างเคียงได้ ซึ่งอาจส่งผลต่อความมีชีวิตของฟันซี่นั้นด้วย
5.เพื่อป้องกันการเกิดถุงน้ำ(Cyst) สำหรับฟันคุดที่ทิ้งไว้นาน เนื้อเยื่อที่หุ้มรอบฟันคุดอาจจะขยายใหญ่ขึ้นกลายเป็นถุงน้ำ ซึ่งอาจส่งผลต่อฟันข้างเคียงและกระดูกรอบๆ บริเวณนั้นโดยที่ไม่แสดงอาการเลยก็ได้ หากไม่เคยได้รับการตรวจฟันคนไข้มักจะมาพบทันตแพทย์ด้วยใบหน้าเอียง หรือขากรรไกร 2 ข้างใหญ่ไม่เท่ากัน หากตรวจพบและรีบทำการรักษาจะช่วยลดการสูญเสียขากรรไกรและยังสามารถรักษารูปหน้าให้เหมือนเดิมได้ แต่ถ้าถุงน้ำมีขนาดใหญ่มากก็อาจต้องตัดขากรรไกรออกบางส่วน ส่งผลให้เสียรูปหน้าบริเวณนั้นได้
6.เพื่อป้องกันกระดูกขากรรไกรหัก เนื่องจากการที่มีฟันคุดฝังอยู่ในกระดูกขากรรไกร จะทำให้กระดูกขากรรไกรในบริเวณนั้นบางกว่าตำแหน่งอื่น เมื่อได้รับอุบัติเหตุหรือถูกกระแทกขากรรไกรบริเวณนั้นก็จะหักได้ง่าย



🦷 คำแนะนำสำหรับคนไข้หลังถอนฟัน/ผ่าฟันคุด

1. กัดผ้าก๊อซไว้แน่นๆ ประมาณ 1 ชั่วโมง แล้วค่อยคายผ้าก๊อซทิ้ง
2. ห้ามบ้วนน้ำในช่วง 6 ชั่วโมงแรก
3. ห้ามแคะ เขี่ย หรือเอาลิ้นเล่นที่แผลขณะที่ยังชาอยู่
4. ห้ามกัดปากและลิ้นเล่นขณะยังชาอยู่
5. ขณะกัดผ้าก๊อซ เลือดและน้ำลายให้กลืนลงคอทั้งหมด ห้ามอม ห้ามบ้วน ไม่อย่างนั้นเลือดจะไหลไม่หยุด เนื่องจากเวลาที่บ้วนจะทำให้ผ้าก๊อซเลื่อนหลุดจากปากแผลโดยไม่รู้ตัวเพราะยังชาอยู่ ส่งผลให้เลือดออกมากขึ้น
6. หลังถอนฟัน/ผ่าฟันคุด หากมีอาการปวดให้รับประทานยาแก้ปวด 1-2 เม็ด หากไม่มีอาการปวด ไม่ต้องรับประทานยา
7. ถ้าเลือดออกไม่หยุด ให้ใช้น้ำแข็งประคบบริเวณที่ถอนฟัน/ผ่าฟันคุด หรือใช้ผ้าก๊อซสะอาดวางที่ปากแผลแล้วกัดให้แน่นประมาณ 1 ชั่วโมง
8. ห้ามออกกำลังกาย ห้ามดื่มสุรา ห้ามสูบบุหรี่ และควรเลี่ยงการรับประทานอาหารรสจัด เนื่องจากจะทำให้แผลหายช้าและเลือดออกมากขึ้น
9. ถ้ามีอาการผิดปกติควรกลับมาพบทันตแพทย์